โรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนหรือเรียกอีกอย่างว่า โรคเกิร์ด (Gastroesophageal reflux disease – GERD) หมายถึง ภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด ซึ่งไหลย้อนกลับขึ้นไประคายเคืองในหลอดอาหารและลำคอ ทำให้เกิดอาการแสบร้อนตรงกลางอก และลำคอ โรคกรดไหลย้อนเป็นโรคที่พบได้ประมาณ 10-15% ของผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อย (Syspepsia) เป็นโรคที่สามารถพบได้ในคนทุกอายุ ไม่ว่าจะตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยจะพบอัตราการเกิดสูงขึ้นในคนที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป

แต่ก็อาจพบได้ในเด็กเล็กและคนวัยหนุ่มสาวได้ด้วยเช่นกัน สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน เกิดจากภาวะหย่อนสมรรถภาพของหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหาร (Lower esophagel sphincter – LES) จึงทำให้กล้ามเนื้อหูรูดส่วนนี้ปิดไม่สนิท ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารและลำคอ ทำให้เกิดอาการแสบร้อนตรงกลางอกและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน

1. หูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารเสื่อมตามอายุ หรือหูรูดที่ยังเจริญไม่เต็มที่ในทารก สำหรับในผู้สูงอายุ เซลล์ต่างๆ ทุกชนิดของร่างกายรวมทั้งหูรูดและกระเพาะอาหารจะค่อยๆ เสื่อมลง ดังนั้นจึงทำให้หูรูดนี้หย่อนสมรรถภาพลง เมื่อเรากินอาหารเข้าไป น้ำย่อยในกระเพาะอาหารจะดันย้อนกลับขึ้นไปที่หลอดอาหารได้ง่าย ส่วนในเด็กทารกจะเกิดจากหูรูดส่วนนี้ยังเจริญไม่เต็มที่ ทำให้การทำงานหย่อนยาน เด็กทารกจึงมีการขย้อนนมและอาหารออกมาแต่อาการต่างๆนี้ มักจะหายไปเองเมื่อเด็กโตขึ้น เพราะกล้ามเนื้อหูรูดจะเริ่มแข็งแรงมากขึ้น

2. มีปริมาณกรดที่ค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากกลไกในการกำจัดกรดในหลอดอาหารนั้นผิดปกติ เช่น การบีบตัวของหลอดอาหารผิดปกติ ซึ่งจะทำให้อาหารที่รับประทานลงไปไหลย้อนกลับขึ้นมาจากเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ

3. กระเพาะอาหารบีบตัวลดลงเนื่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น อายุที่สูงมากขึ้น กล่าวคือเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป เซลล์ต่างๆ ทุกชนิดของร่างกายรวมทั้งหูรูดและกระเพาะอาหารจะค่อยๆ เสื่อมลง แม้กระทั่งได้รับสารบางอย่าง หรือยาบางชนิด ที่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดในหลอดอาหารคลายตัว จึงส่งผลให้เกิดการคั่งของอาหารและน้ำย่อยนานกว่าปกติ ซึ่งจะเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหารดันให้หูรูดนี้เปิดออก อาหารหรือน้ำย่อยจึงไหลย้อนกลับขึ้นไปที่หลอดอาหาร

4. มีแรงดันในกระเพาะอาหารที่เพิ่มขึ้น จึงดันให้หูรูดเปิดหรือปิดไม่สนิท ทำให้อาหารหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปที่หลอดอาหารได้ เช่น การรับประทานอาหารประเภทที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารได้ในปริมนานๆ (อาหารที่เป็นมันๆ), อาการไอ โดยเฉพาะการไอเรื้อรัง, หลังรับประทานอาหารเสร็จแล้วนอนเลย เป็นต้น

5. มีปัจจัยที่ส่งเสริมให้ภาวะกรดไหลย้อนเกิดบ่อยๆและนานขึ้น เช่น การมีปริมาตรของกระเพาะเพิ่มมากขึ้น กระเพาะอาหารจึงขยายตัวมากขึ้น ทำให้ในกระเพาะอาหารมีกรดหรือสิ่งคัดหลั่งมากขึ้น

โรคกรดไหลย้อนหายห่วงป้องกันได้ก่อนเกิดเป็นโรคเรื้อรัง